วันเสาร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ปราสาทตาควาย

ปราสาทตาควาย  หรือ  ปราสาทกรอเบย (กระบือ) ตั้งอยู่บริเวณช่องตาควาย ในเขตบ้านไทยนิยมพัฒนา หมู่ 17 ตำบลบักได อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ เป็นปราสาทหินศิลาแลง ตั้งทางด้านทิศตะวันออกของปราสาทตาเมือนธม ห่างไปประมาณ 12 กิโลเมตร


ปราสาทตาควายตั้งอยู่บนสันเขาห่างจากหน้าผาสูงประมาณ 10 เมตร ของเทือกเขาพนมดงเร็ก เป็นปราสาทจตุรมุข ตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ผังของปราสาทเป็นรูปกากบาท ส่วนฐานต่ำ ส่วนล่างสุดก่อด้วยศิลาแลง ส่วนบนก่อด้วยศิลาทรายทั้งหมด หลังคาห้องครรภคฤหะ ก่อเป็นทรงพุ่มยอดปรางค์ ซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป 5 ชั้น ส่วนหลังคามุขก่อเป็นรูปประทุน จรดหน้าบันทั้ง 4 ด้าน ภายในห้องมีประติมากรรม ลักษณะคล้ายสวายยัมภูวลึงค์ 1 ชิ้น


ปราสาทตาควายเป็นปราสาทหลังเดียวโดดๆ ไม่ปรากฏว่ามีอาคารประกอบอื่นๆ เช่น ระเบียงคด บรรณาลัย หรือโคปุระ   ตัวปราสาทก่อด้วยหินทราย คะเนด้วยสายตาว่าน่าจะมีความสูงประมาณ 12 - 15 เมตรจากพื้นดิน (ไม่รวมส่วนฐานที่คงยังฝังจมอยู่ในดิน) มีประตูทางเข้าสี่ด้าน ทุกด้านเป็นช่องประตูจริง มีมุขยื่นออกมาทางด้านหน้า (ตะวันออก) เป็นมุขสั้นๆ ปัจจุบันพังทลายลงมาบางส่วน   สภาพของปราสาทตาควายนับว่าสมบูรณ์มาก คือชั้นหลังคายังอยู่ทั้งหมดจนถึงบัวยอด แต่การก่อสร้างปราสาทแห่งนี้ยังไม่แล้วเสร็จ เพียงก่อขึ้นรูปไว้เท่านั้น ยังมิได้ขัดแต่งผิวหิน หรือแกะสลักลวดลายใดๆ ซึ่งนั่นเองอาจเป็นเหตุให้ปราสาทยังคงรูปอยู่ได้ โดยไม่ถูกทำลาย หรือลักลอบกะเทาะชิ้นส่วนต่างๆ ไป เช่นที่เกิดขึ้นกับปราสาทอื่นๆ ตามแนวชายแดน เช่นปราสาทตาเมือนธม   การที่ไม่ปรากฏลวดลายอย่างหนึ่งอย่างใดเลยนี้ ทำให้กำหนดอายุปราสาทตาควายได้แต่เพียงกว้างๆ จากรูปทรงของตัวปราสาท ว่าน่าจะอยู่ในราวช่วงปลายสมัยนครวัด ต่อตอนต้นสมัยบายน หรือรัชกาลพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ถึงรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 7


ปราสาทหินแห่งใหม่ที่พบในป่าทึบนี้เรียกกันตามชื่อช่องเขาว่า "ปราสาทตาควาย" แต่เนื่องจากการเก็บกู้กับระเบิดในบริเวณนั้นยังไม่เสร็จสิ้น ทั้งยังเป็นเขตที่มิได้มีการปักปันพรมแดนกันอย่างชัดเจนการเดินทางเข้าไปยังปราสาทตาควาย จึงจำเป็นต้องติดต่อประสานกับทางหน่วยทหารพรานของกองกำลังสุรนารีในพื้นที่เพื่อขอกำลังอารักขาดูแลความปลอดภัย ทำนองเดียวกันกับการเข้าไปยังกลุ่มปราสาทตาเมือนในช่วงสิบกว่าปีก่อน


แม้ว่าสัมพันธภาพระหว่างหน่วยทหารพรานของไทย กับกำลังตำรวจของกัมพูชาจะเป็นไปด้วยดี มีการเยี่ยมเยียนไปมาหาสู่ และออกลาดตระเวนร่วมกันเสมอหากแต่การจะพัฒนาปราสาทตาควายให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ หรือแม้แต่การที่จะมีนักท่องเที่ยวไทยเข้าไปกันเป็นจำนวนมากนั้น ย่อมไม่เป็นที่พอใจของฝ่ายกัมพูชานัก ดังปรากฏท่าทีว่าตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2544 หนังสือพิมพ์ของกัมพูชา อย่างน้อยสองฉบับ ก็เคยลงข่าวว่ากองกำลังของไทยลักลอบนำสารเคมีมาโปรยที่ปราสาทกรอเบย (กระบือ - ควาย) ในเขตเทือกเขาพนมดงรัก ทำให้ตัวปราสาทพังทลายลงมา หนังสือพิมพ์ มนสิการเขมร เสริมด้วยว่า "ประเทศไทยกำลังทำสงคราม ทำลายวัฒนธรรม และทำสงครามช่วงชิงดินแดนของประเทศกัมพูชาแล้ว"


ทำไมถึงชื่อปราสาทตาควาย นายประจวบ เสงี่ยมทรัพย์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบักไดบอกว่า ชาวบ้านเล่าต่อๆ กันมาว่า มีชาวบ้านส่องสัตว์ตอนกลางคืน เห็นตาควายจึงเดินเข้าไปปรากฏว่าเป็นปราสาทเรื่องลักษณะนี้ “ก็เหมือนกับปราสาท ตาเมือนที่ชาวบ้านเห็นไก่เมื่อตามเข้าไปก็พบปราสาท” มูลเหตุที่เป็นเช่นนี้นายประจวบวิเคราะห์ว่า เพราะที่ตั้งของปราสาททั้งสองอยู่ในป่าทึบ เป็นที่อยู่ของสัตว์ต่างๆ นั่นเอง



















































































ข้อมูลทั่วไป ตำบลบักได
ประวัติความเป็นมา : คำว่า "บักได" เป็นภาษาเขมรมีความหมายดังนี้ "บัก" แปลว่า หัก "ได" แปลว่า แขน รวมความหมายคือ แขนหัก โดยมีตำนานเล่าขานจากชาวบ้านว่า มีชาวบ้านที่ออกติดตามควายที่ถูกขโมยไป และไปพบกับเทวรูป จึงได้บนบานกับเทวรูปว่าถ้าพบควายที่ถูกขโมย จะนำควายมาถวายเป็นการแก้บน เมื่อพบควายที่ถูกขโมยแล้ว จึงนำลูกควายมาถวายโดยนำมาผูกไว้กับท่อนแขนของเทวรูป เนื่องจากลูกควายได้ยินเสียงแม่ควาย จึงได้วิ่งไปหาแม่ควาย ทำให้ท่อนแขนของเทวรูปหักติดไปกับเชือกที่ผูกควายไปด้วย  จึงเป็นที่มาของตำบลบักได ปัจจุบันเทวรูปนั้นยังคงอยู่ที่บ้านบุอำเปาว์ ม.4 ตำบลบักได

สภาพทั่วไปของตำบล :
เป็นที่ราบลุ่ม ตั้งอยู่ตามแนวเขตชายแดนของประเทศไทย ติดกับประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยกัมพูชา ทางด้านทิศใต้ มีเทือกเขาพนมดงรักเป็นแนวเขตกั้น

อาณาเขตตำบล :
ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านวารี ตำบลจีกแดด กิ่งอำเภอพนมดงรัก
ทิศใต้ ติดต่อกับ ชายแดนประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยกัมพูชา
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านช้างหมอบ ตำบลแนงมุด อำเภอกาบเชิง
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านพนมดิน ตำบลตาเมียง กิ่งอำเภอพนมดงรัก

จำนวนประชากรของตำบล :
จำนวนประชากรในเขต อบต. 11,412 คน และจำนวนหลังคาเรือน 2,295 หลังคาเรือน

ข้อมูลอาชีพของตำบล :
อาชีพหลัก ทำนา ทำสวน เลี้ยงสัตว์
อาชีพเสริม รับจ้างทั่วไป

เส้นทางคมนาคม  จาก จว.ส.ร. – อ.ปราสาท – บ.รุน = 75 กม.
จำนวนครัวเรือนที่มีไฟฟ้าใช้ ในเขต อบต. 2,215 ครัวเรือน  คิดเป็นร้อยละ 80
มีโทรศัพท์   จำนวน 770 ครัวเรือน

ประธาน อบต.  นายเบีย  ยิ่งรุ่งเรือง
นายก อบต.  นายประจวบ  เสงี่ยมทรัพย์



ดู ปราสาทตาควาย ในแผนที่ขนาดใหญ่กว่า


ลิ้งค์ที่เกี่ยวข้อง
1. ปราสาทตาเมือน ประสาทตาเมือนโต๊ด ปราสาทตาเมือนธม อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์
2. ผลการค้นหา คำค้น " ปราสาท "

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น