วันอาทิตย์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2555

อำเภอท่าตูม จ.สุรินทร์

ประวัติ และความเป็นมาของอำเภอท่าตูม
อำเภอท่าตูม ชุมชนอำเภอท่าตูม เป็นชุมชนเก่าแก่ดั้งเดิม ตั้งแต่ปลายสมัยเจนละ (ยุคศตวรรษที่ 12 - 13) ที่มีการปกครอง อิสานปุระ (สุรินทร์) เมื่อรัฐสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ประกาศลัทธิเทวราชา และสถาปนา อาณาจักรอังกอร์ ได้มีการแผ่ขยายการปกครองออกไปอย่างกว้างขวาง จากการนับถือเทวนิยมดังกล่าว จะมีการสร้างเทวสถานในการประกอบพิธี และปราสาทที่พำนักของผู้แสวงบุญทั่วไปในการไปมาหาสู่ระหว่างเมืองสำคัญต่างๆ

 

ในสมัยนั้นจะติดต่อกันทั้งในทางบก และทางน้ำ ซึ่งเป็นไปในรูปแบบของการส่งส่วย ส่งเครื่องราชบรรณาการ การแลกเปลี่ยนผลิตผลการค้าขาย ตลอดจนการยกกองทัพไปรบ การติดต่อระหว่างเมืองในแดนอิสานตอนล่าง จึงเป็นทางเรือเป็นส่วนใหญ่

ซึ่งในการล่องเรือดังกล่าวตามแม่น้ำนั้น จะมีการติดต่อทางด้านนครจำปาศักดิ์ ปากเซ และฝั่งแม่น้ำโขง (เจนละบก) และทางด้านนครธม นครวัด กำปงจาม กำปงฉนัง มาตามลำน้ำเพื่อติดต่ออาณาจักรพิมาย จากการเดินทางรอนแรมมาถึงที่ตั้งบริเวณอำเภอท่าตูมในปัจจุบัน คณะเดินทางได้มาตั้งค่ายพักแรม ระหว่างที่บริเวณริมฝั่ง ที่มีต้นมะม่วงใหญ่ จึงได้ตั้งค่ายพักแรม และสร้างเป็นที่พักชั่วคราว และเรียกที่พักแรมนี้ว่า "กำปงสวาย" (ท่ามะม่วง) ชุมชนกำปงสวาย ได้ดำรงอยู่เรื่อยมาแม้ว่ามีอาณาจักรเจนละ และขอมโบราณ จะเสื่อมอำนาจลง จนเมื่อรัชสมัยรัชกาลที่ 2, 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการรบพุ่งกัน ระหว่างไทยกับกัมพูชาอีก ได้มีการอพยพชาวกัมพูชาบางส่วนเข้ามาในประเทศไทย ชาวกัมพูชาที่มีเชื้อสายเดิม ก็ได้อพยพมาอยู่ในชุมชนกำปงสวายนี้ ได้เปลี่ยนมาเป็น "พงสวาย" ในปัจจุบัน (หมู่ที่ 13 ตำบลท่าตูม) ประมาณปี พ.ศ. 2330 อำเภอท่าตูมได้มีการอพยพมาบริเวณปากแม่น้ำมูลและชี มาบรรจบกันโดยชาวกูย (ส่วย) ซึ่งอพยพมาจากแคว้นพนมดงรัก เป็นพวกที่รักสงบ รักธรรมชาติ มีความชำนาญในการเลี้ยงช้าง และการเกษตร เห็นว่าบริเวณดังกล่าวมีต้นโพธิ์ซึ่งเป็นอาหารของช้างมาก มีทำเลเลี้ยงช้างเหมาะสม จึงได้อพยพมาอาศัยอยู่บริเวณนั้น และเรียกบริเวณนั้นว่า "กระโพ" (ตำบลพระโพในปัจจุบัน)

ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 อำเภอท่าตูมได้ยกขึ้นเป็นอำเภอสุรพิน และขึ้นอยู่กับเจ้าเมืองขุขันธ์ ปี พ.ศ. 2452 เห็นว่าการให้อำเภอสุรพินขึ้นอยู่กับเจ้าเมืองขุขันธ์ มีระยะทางไกลมาก สร้างความลำบากให้แก่ข้าราชการ และราษฎรไปติดต่อราชการ จึงได้พิจารณาให้อำเภอสุรพินมาขึ้นต่อเจ้าเมืองสุรินทร์ และเปลี่ยนเป็นอำเภออุดรสุนทร์ ในปี พ.ศ. 2454 ครั้งแรกให้ขึ้นอยู่กับอำเภอเมืองสุรินทร์ มีหลวงแพ่งเป็นนายอำเภอคนแรก ต่อมาปี พ.ศ. 2456 ได้มีการตั้งอำเภออุดรสุรินทร์บริเวณริมฝั่งแม่น้ำมูล บ้านกำปงสวาย แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2465 ขุนสุรสิทธิ์ สาราการ (พิน จรัณยานนท์) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายอำเภอคนแรก เมื่อเทศาภิบาลได้ตรวจงานอำเภอ และชมทิวทัศน์ใกล้แม่น้ำมูล ที่ท่าแพหน้าที่ว่าการอำเภอ ได้พลาดตกลงน้ำเสียงดังตูม ชาวบ้านจึงเรียกท่าน้ำแห่งนี้ว่า "ท่าตูม" และเนื่องจากท่าน้ำแห่งนั้นเป็นที่ตั้งอำเภอด้วย จึงเรียกที่ว่าการอำเภอท่าตูมมาจนติดปาก ต่อมาสมัยสงครามเอเชียบูรพา (พ.ศ. 2498) ทางราชการมีคำสั่งให้อำเภอจัดทำสนามบินฉุกเฉิน อำเภอได้แผ้วถางที่สาธารณะ หมู่ที่ 7 ตำบลท่าตูมเป็นสนามบิน หลังจากสิ้นสงคราม ทางคณะกรรมการอำเภอเห็นว่าที่ว่าการอำเภอดั้งเดิมอยู่กลางชุมชน มีความแออัดคับแคบ ขยายส่วนราชการต่างๆ ไม่ได้ จึงได้ย้ายมาตั้งสนามบิน (บริเวณอำเภอปัจจุบัน) และเนื่องจากการเรียกกันจนติดปากว่าอำเภอท่าตูม จึงได้เปลี่ยนชื่อจากอำเภออุดรสุรินทร์มาเป็นอำเภอท่าตูม



ที่ตั้ง / อาณาเขตติดต่อ
อำเภอท่าตูม ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของจังหวัดสุรินทร์ ห่างจากศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ 52 กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 214 และห่างจากกรุงเทพมหานคร โดยทางรถยนต์ ประมาณ 506 กิโลเมตร โดยมีอาณาเขตติดต่อดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อ อำเภอเกษตรวิสัย และอำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
ทิศใต้ ติดต่อ อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์
ทิศตะวันออก ติดต่อ อำเภอรัตนบุรี และอำเภอสนม จังหวัดสุรินทร์
ทิศตะวันตก ติดต่อ อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ และอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์


พื้นที่
อำเภอท่าตูม มีพื้นที่ 714 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 446,250 ไร่


ลักษณะภูมิประเทศ
อำเภอท่าตูม มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 714 ตารางกิโลเมตร มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง และที่ราบลุ่มบางส่วน โดยบริเวณทางตอนเหนือมีสภาพเป็นที่ราบกว้างใหญ่ ที่มีชื่อเรียกขานว่า "ทุ่งกุลาร้องไห้" (ปัจจุบันอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณธัญญาหาร) ซึ่งเป็นที่ราบเรียบในพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลทุ่งกุลา ตำบลพรมเทพ และตำบลโพนครก ตอนกลางเป็นที่ราบลุ่ม แม่น้ำมูลไหลผ่านจากทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออก และบริเวณทางทิศใต้ ตะวันตกเฉียงใต้เป็นที่ราบสูง ได้แก่ บริเวณทางทิศใต้ของอำเภอ (ฝั่งซ้ายของแม่น้ำมูล) เป็นที่ราบสูงจากฝั่งของแม่น้ำมูลจนถึงเขาพนมดิน สภาพดินส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทรายไม่อุ้มน้ำ ทิศเหนือฝั่งแม่น้ำมูลเป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง อำเภอท่าตูมมีแม่น้ำ และลำน้ำที่สำคัญไหลผ่านดังนี้

1. แม่น้ำมูล ไหลผ่านอำเภอท่าตูม จากทิศตะวันตก ไปทิศตะวันออก เป็นแม่น้ำสำคัญไหลผ่านตอนกลางของอำเภอท่าตูม เป็นแหล่งกำเนิดพันธุ์ปลาต่างๆ เป็นทรัพยากรธรรมชาติ และเป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรที่หล่อเลี้ยงเกษตรกรอำเภอท่าตูม

2. แม่น้ำชี เป็นลำน้ำที่สำคัญอีกสายหนึ่งของอำเภอท่าตูม ไหลผ่านอำเภอท่าตูมจากทิศตะวันตก ไปบรรจบแม่น้ำมูลที่บริเวณ "วังทะลุ" บ้านตากลางที่ตำบลกระโพ

3. ลำพลับพลา เป็นลำน้ำที่ไหลผ่านทางทิศเหนือของอำเภอท่าตูม ในเขตตำบลทุ่งกุลา ไหลผ่านทางทิศเหนือของอำเภอในเขตตำบลทุ่งกุลา ไหลจากทิศตะวันไปทางทิศตะวันออกบรรจบแม่น้ำมูลที่ตำบลโพนครก พื้นที่ และการใช้สอยประโยชน์อำเภอท่าตูม พื้นที่ส่วนใหญ่จะใช้ประโยชน์ในการเกษตร ได้แก่ การทำนา ทำไร่ และการเลี้ยงสัตว์


การปกครอง
อำเภอท่าตูม แบ่งการปกครองออกเป็น 10 ตำบล 165 หมู่บ้าน เทศบาลตำบล 2 แห่ง องค์การบริหารส่วนตำบล 9 แห่ง

ตำบลท่าตูม - จำนวนหมู่บ้าน 22 - จำนวนหน่วยเลือกตั้ง ส.ส./ส.ว. 22 - นายเสมียน  มีพันธ์ (กำนัน)

ตำบลกระโพ - จำนวนหมู่บ้าน 20 - จำนวนหน่วยเลือกตั้ง ส.ส./ส.ว. 20 - นายสุดใจ  อินทอง (กำนัน)

ตำบลพรมเทพ - จำนวนหมู่บ้าน 22 - จำนวนหน่วยเลือกตั้ง ส.ส./ส.ว. 11 - นายสมาน  ศรีสอน (กำนัน)

ตำบลโพนครก - จำนวนหมู่บ้าน 16 - จำนวนหน่วยเลือกตั้ง ส.ส./ส.ว. 13 - นายแปะ  บุญล้อม (กำนัน)

ตำบลเมืองแก - จำนวนหมู่บ้าน 19 - จำนวนหน่วยเลือกตั้ง ส.ส./ส.ว. 15 - นายพรหม  การะเกษ (กำนัน)

ตำบลบะ - จำนวนหมู่บ้าน 15 - จำนวนหน่วยเลือกตั้ง ส.ส./ส.ว. 8 - นายประสิทธิ์  ซ่อนกลิ่น (กำนัน)

ตำบลหนองบัว - จำนวนหมู่บ้าน 11 - จำนวนหน่วยเลือกตั้ง ส.ส./ส.ว. 10 - นายสมนึก  สาแก้ว (กำนัน)

ตำบลบัวโคก - จำนวนหมู่บ้าน 19 - จำนวนหน่วยเลือกตั้ง ส.ส./ส.ว. 16 - นายทองนรินทร์  สาแก้ว (กำนัน)

ตำบลหนองเมธี - จำนวนหมู่บ้าน 11 - จำนวนหน่วยเลือกตั้ง ส.ส./ส.ว. 8 - นายเชิดชาย  ชมภู (กำนัน)

ตำบลทุ่งกุลา - จำนวนหมู่บ้าน 10 - จำนวนหน่วยเลือกตั้ง ส.ส./ส.ว. 8 - นายสุดใจ  แก้วเจริญ (กำนัน)

รวม 10 ตำบล , 165 หมู่บ้าน , หน่วยเลือกตั้งเขตเทศบาล 6 หน่วย รวมทั้งหมด 137 หน่วย



สถานที่ท่องเที่ยว
อำเภอท่าตูม มีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ คือ


1. หมู่บ้านช้าง และศูนย์คชศึกษา บ้านตากลาง หมู่ที่ 9 , 13 ตำบลกระโพ ตั้งอยู่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือของบ้านกระโพ มีถนนลาดยางเข้าถึงตลอดเส้นทาง ห่างจากทางหลวงสุรินทร์ - ร้อยเอ็ด ประมาณ 22 กิโลเมตร ประชากรส่วนใหญ่ของบ้านตากลางมีอาชีพทำนา ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ปลูกปอ ทอผ้าไหม และเป็นหมู่บ้านที่มีการเลี้ยงช้างมากที่สุดหมู่บ้านหนึ่ง เป็นหมู่บ้านที่มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบชาวกูย (ส่วย) นอกจากนี้บ้านตากลาง ยังมีศูนย์คชศึกษาซึ่งเป็นศูนย์สำหรับฝึกซ้อมช้าง แสดงช้าง ศูนย์ข้อมูล และพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับช้างเพื่อเป็นแหล่งให้ความรู้ สำหรับประชาชนต่างๆ ที่เข้าเยี่ยมชมศูนย์ฯ นักท่องเที่ยวสามารถเข้าเยี่ยมชมได้ตลอดเวลา.... ลิ้งค์  หมู่บ้านช้าง และศูนย์คชศึกษาจังหวัดสุรินทร์ >>

2. วังทะลุ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของอำเภอท่าตูม ตั้งอยู่ทิศตะวันตกบ้านตากลาง ห่างจากบ้านตากลาง ห่างจากบ้านตากลางประมาณ 2.4 กิโลเมตร เป็นบริเวณที่แม่น้ำสองสายไหลมาบรรจบกัน คือ แม่น้ำมูล กับ ลำน้ำชี

3. วัดพระพุทธบาทพนมดิน เป็นวัดป่าที่มีสิ่งก่อสร้างสวยงามบรรยากาศร่มรื่น อาทิ พระพุทธบาทจำลอง พระมหาเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ฯลฯ ตั้งอยู่ติดถนนสายสุรินทร์ - ท่าตูม ทางทิศใต้ของที่ว่าการอำเภอท่าตูม ห่างจากอำเภอท่าตูม ประมาณ 5 กิโลเมตร.... ลิ้งค์ วัดพระพุทธบาทพนมดิน

4. ปราสาทบ้านสระถลา ตั้งอยู่บ้านสระถลา ตั้งอยู่บ้านสระถลา หมู่ที่ 21 ตำบลท่าตูม อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ห่างจากที่ว่าการอำเภอท่าตูม ประมาณ 4 กิโลเมตร

5. ฝายน้ำล้นบ้านกุดมะโน เป็นฝายน้ำล้นที่เก็บกักน้ำหนองกลาง เป็นแหล่งน้ำที่มีทิวทัศน์สวยงามในฤดูฝน น้ำจะลดมีหาดทรายที่สวยงาม ตั้งอยู่ที่บ้านกุดมะโน หมู่ที่ 7 ตำบลโพนครก ห่างจากที่ว่าการอำเภอท่าตูม ประมาณ 18 กิโลเมตร

6. ประเพณีการแข่งขันเรือยาวประจำปี ระหว่างเดือนตุลาคมของทุกปี ณ ลุ่มแม่น้ำมูล.... ลิ้งค์ งานประเพณีแข่งขันเรือยาวประจำปี



ข้อมูลทั่วไป และจำนวนประชากร
พื้นที่ของอำเภอท่าตูม จำนวน 714 ตารางกิโลเมตร
ตำบล จำนวน 10 ตำบล
หมู่บ้าน จำนวน 165 หมู่บ้าน
องค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 9 แห่ง (เทศบาล 2 แห่ง)
ประชากร จำนวน 96,587 คน
ชาย จำนวน 50,493 คน
หญิง จำนวน 46,194 คน
จำนวนหลังคาเรือน จำนวน 22,016 หลังคาเรือน
จำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 69, 846 คน



ภาพบน และล่าง : ที่ว่าการอำเภอท่าตูม จ.สุรินทร์




ภาพบน และล่าง : รายนามผู้ดำรงตำแหน่งนายอำเภอท่าตูม จ.สุรินทร์



ภาพบน : รองอำมาตย์เอก หลวงสนิทนิคมรัฐ นายอำเภอท่าตูม คนแรก





ภาพบน และล่าง : โรงพยาบาลท่าตูม อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์


























ภาพบน และล่าง : แม่น้ำมูล เขตเทศบาลตำบลท่าตูม







ภาพบน : รถบัสโดยสารปรับอากาศสายสุรินทร์ - สตึก แวะรับผู้โดยสารบริเวณใกล้กับตลาดสดเทศบาลตำบลท่าตูม อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์

ภาพล่าง : รถตู้โดยสารปรับอากาศสายสุรินทร์ - รัตนบุรี แวะรับผู้สารเส้นทาง สุรินทร์ - จอมพระ - ท่าตูม - รัตนบุรี

 










ปรัชญา  สุวรรณทา
ปลัดอำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์
เอื้อเฟื้อข้อมูล : 13 มีนาคม พ.ศ. 2555




ลิ้งค์ที่เกี่ยวข้อง
1. ผลการค้นหา คำค้น " ท่าตูม "

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น